กทม. ผนึกกำลัง เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดตัวโครงการ “The First Bangkok Zero Waste Park”

0 0
Read Time:7 Minute, 35 Second

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการ Bangkok Zero Waste Park : โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ ภายใต้หัวข้อ “The First Bangkok Zero Waste Park : สุขุมวิท คิดก่อนทิ้ง” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง จำกัด และภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการขึ้นเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ

โดยมี นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย คุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตคลองเตย ผู้บริหารเจ้าหน้าที่ เดอะมอลล์ กรุ๊ป และภาคีเครือข่าย ร่วมกิจกรรม ณ ลานประติมากรรมเหรียญ อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย พร้อมร่วมปลูกต้นมะฮอกกานี และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้อุทยานเบญจสิริ

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการขยายตัวของชุมชนเมืองและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนได้ส่งผลให้อัตราการบริโภคของประชาชนภายในกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานครสูงถึง 8,675 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้การจัดการมูลฝอยมีความยั่งยืน กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 โดยมีวิสัยทัศน์ “มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management)” สร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง ตามหลัก 3R คือ Reduce, Reuse and Recycle และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล โดยส่งเสริม ผลักดัน บทบาทของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนให้ตระหนักรู้ เห็นคุณค่าของการนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดความคุ้มค่า ส่งเสริม วินัยและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะที่ต้นทาง โครงการ “Bangkok Zero Waste Park” เป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายภาคเอกชนในการผลักดันและสนับสนุนโครงการ ประกอบด้วย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่มีวิสัยทัศน์ในการร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด อีกทั้งมีพื้นที่ใกล้เคียงที่สำคัญอุทยานเบญจสิริ อย่างศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) และศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการพัฒนานำร่องโครงการนี้

ด้านนายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง ถังขยะต้นแบบที่ใช้ในอุทยานเบญจสิริแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง จำกัด ออกแบบในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดการฉุกคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการคัดแยกและทิ้งขยะให้ถูกต้อง โดยการทิ้งขยะผ่านถัง “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” ภายใต้แนวคิด “แยกง่าย มีทางไป และ ได้ผลลัพธ์” พร้อมทั้งนำถังขยะรูปแบบใหม่มาตั้งภายในพื้นที่อุทยานเบญจสิริทั้งหมดจำนวน 8 จุด พร้อมกับติดตั้งป้ายให้ความรู้การจัดการขยะและป้ายแสดงปริมาณขยะที่คัดแยกได้เพื่อเป็นการแสดงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ยังสามารถเรียนรู้เส้นทางการจัดการขยะภายในสวนสาธารณะจากต้นทางถึงปลายทางได้อย่างชัดเจนเป็นการสื่อสารให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นภายในอุทยานเบญจสิริ เพื่อสาธิตการนำขยะที่คัดแยกแต่ละประเภทไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก นำไปใช้กับแปลงปลูกและแปลงสาธิตภายในสวน ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนขยะไปใช้ประโยซน์ที่เห็นผลและใช้ได้จริง

โดยแบ่งพื้นที่เป็น 5 โซน ประกอบด้วย 1.โซนนิทรรศการและกิจกรรม จัดแสดงความเป็นมาของโครงการ วิธีการคัดแยกของขยะแต่ละประเภท รวมถึงแนะนำวิธีการใช้ และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ Line OA : Envi Hero 2.โซน Recycle สำหรับชั่งน้ำหนักและรวบรวมขยะรีไซเคิลเพื่อเตรียมส่งต่อ 3.โซน Organic สำหรับตั้งเครื่องทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ จัดแสดง วิธีการแปรรูป ขยะอินทรีย์รูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวและใส่ต้นไม้ การทำน้ำหมักชีวภาพ รวมไปถึงการนำใบไม้แห้งซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่มีจำนวนมากในสวนสาธารณะมาใช้ประโยชน์ เป็นต้น 4. โซน General Waste สำหรับเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยทั่วไปก่อนส่งไปกำจัด และ 5. โซนแปลงปลูกผัก

โดยผู้ใช้บริการสวนสาธารณะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม ซึ่งอุทยานเบญจสิริจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะภายในพื้นที่สวนสาธารณะเป็นประจำทุกเดือน เช่น การนำขยะเศษอาหารมาแลกต้นไม้หรือปุ๋ยภายในศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างจูงใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนเห็นความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่สวนสาธารณะตั้งแต่ต้นทางได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน พื้นที่นำร่อง เขตคลองเตย ระยะที่ 2 เข้าร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งและขยายผลการดำเนินการพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างครบวงจรให้ยั่งยืน รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จะมีการขยายผลโครงการไปในสวนสาธารณะและพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

คุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด (MISS VORALAK TULAPHORN; CHIEF MARKETING OFFICER, THE MALL GROUP CO., LTD.) กล่าวว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด ได้ร่วมเป็นภาคีสมาชิกของ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ UNEP ตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกวิธี (Zero Waste) ชูแนวคิดเดินเคียงคู่ไปกับการรักษ์สิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม Reduce การใช้ซ้ำเพื่อก่อให้เกิดขยะน้อยลง Reuse และการคัดแยกขยะเพื่อไปผ่านกระบวนการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ Recycle เดอะมอลล์ กรุ๊ป มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่ได้ร่วมสนับสนุนให้อุทยานเบญจสิริเป็นต้นแบบสวนสาธารณะที่บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนแห่งแรกในประเทศไทย “The First Bangkok Zero Waste Park”  โดยร่วมพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน), บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จํากัด, โรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา และโรงแรมแมริออท เอ็กเซ็กคิวทีฟ อพาร์ทเม้นต์ สุขุมวิท พาร์ค รณรงค์ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ  ด้วยการจัดตั้งจุดบริการคัดแยกประเภทขยะ 4 ขั้นตอน ได้แก่ เทน้ำ ถังสำหรับเทน้ำและของเหลว เพื่อลดการปนเปื้อน เพิ่มโอกาสในการนำมาใช้ใหม่, ทิ้งวัสดุรีไซเคิล แก้วพลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม, เทเศษอาหาร เปลือกผลไม้ต่างๆ เพื่อนำไปหมักปุ๋ยชีวภาพ, ทิ้งขยะอื่นๆ ถังสำหรับขยะทั่วไป อาทิ กล่องข้าว กล่องนม แก้วกระดาษ ช้อน ส้อม ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น เพื่อส่งต่อไปสู่กระบวนการบริหารจัดการขยะ อาทิ กระบวนการส่งขยะสู่ศูนย์รีไซเคิล เพื่อแปรรูปหรือส่งต่อไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า, กระบวนการกำจัดด้วยระบบของ กทม. เพื่อคัดแยกขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นอกจากนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังได้ขยายผลโครงการดังกล่าวไปยัง The Em District ย่านการค้าชั้นนำบนถนนสุขุมวิท ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) , ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier)  และ ดิ เอ็มสเฟียร์  (The Emsphere) ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่ได้ร่วมโครงการ Bangkok Zero Waste Park” โดยจะจัดตั้งจุดคัดแยกประเภทขยะ เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะในพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืน ขานรับนโยบายกรุงเทพมหานคร ที่มีเป้าหมายการจัดการขยะในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี  พ.ศ. 2556 – 2575  “มุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management)”

ทั้งนี้ จากการริเริ่มโครงการ Bangkok Zero Waste Park ณ พื้นที่อุทยานเบญจสิริ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน จะมีการขยายผลการส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปส่งต่อใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าจนเหลือขยะที่นำไปกำจัดให้น้อยที่สุดเพื่อลดมลภาวะที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะให้โครงการนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับองค์กรในภาคีเครือข่ายและมีแนวคิดที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นของกรุงเทพมหานครต่อไป จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้พื้นที่ขยะในสวนสาธารณะเป็นศูนย์ ด้วยการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้โครงการ The Bangkok Zero Waste Park” เพื่อการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพแบบครบวงจร ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

%d bloggers like this: