“พังผืด” ปัญหาหนักใจหลังศัลยกรรมสามารถป้องกันและแก้ไขได้
พังผืด ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากทำการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังศัลยกรรม ซึ่งส่งผลต่อความสวยงาม หรือในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดเปิดแผลใหม่ และยังปัญหาที่อาจสร้างความกังวลให้กับคนที่เคยทำศัลยกรรมและคนที่อยู่ในช่วงตัดสินใจว่า จะทำศัลยกรรมดีหรือไม่
พญ.ดารินทร์ ม่วงไทย ศัลยแพทย์ตกแต่งและผู้บริหาร The Sib Clinic กล่าวว่า พังพืด คือเนื้อเยื่อคอลลาเจน tpe III เป็นเนื้อเยื่อปกติของเราเอง เกิดจากกระบวนการของร่างกายที่เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาจะมีการสร้างเนื้อเยื่อมาห่อหุ้ม ในกรณีของการทำศัลยกรรมนั้นสิ่งแปลกปลอมที่ว่าคือบรรดาถุงน้ำเกลือ เจล หรือซิลิโคน โดยเฉพาะการทำศัลยกรรมหน้าอก มักจะมีโอกาสเกิดพังผืดขึ้นได้ค่อนข้างมากกว่าการศัลยกรรมในส่วนอื่นๆ ซึ่งมีหลายปัจจัยด้วยกัน คือ
1. การเลือกขนาดหน้าอกที่ไม่เหมาะสมกับสรีระ หรือขนาดใหญ่เกินไป
2.การเสริมหน้าอกเหนือกล้ามเนื้อ มีโอกาสเกิดพังพืดหดรัดมากที่สุด แต่การเสริมใต้กล้ามเนื้อ แม้ทำให้หน้าอกสวยได้รูปแต่ก็มีความเสี่ยงในการเกิดพังผืดได้เช่นกัน
3. มาตรฐานของซิลิโคน บางครั้งคลินิกที่ทำศัลยกรรมแจ้งกับทางคนไข้ว่าใช้ซิลิโคนที่มีคุณภาพและได้มาตฐาน แต่กลับใส่ซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไปแทน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดพังผืด
4. ดูแลตัวเองที่ไม่ดีหลังศัลยกรรม และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือรับประทานของแสลงต่างๆ
5. รับประทานยาที่เข้าใจว่าเป็นยาสลายพังผืด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยาที่ช่วยสลายพังผืดได้จริงๆ และเห็นผล 100% นั้นยังไม่มี แต่แพทย์อาจให้ยาที่ช่วยเรื่องของอาการเจ็บปวดที่แผลหลังผ่าตัดหรือยาที่ช่วยในเรื่องของระบบหายใจสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดแทน การไปหายาที่มีผู้จำหน่าย โดยให้สรรพคุณว่าเป็นยาสลายพังผืดอาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงอื่นๆ และอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดพังผืดได้เช่นกัน
การเกิดพังผืดขึ้นจะมีการแสดงอาการเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการสัมผัสแล้วรู้สึกว่ามีความแข็งไม่เป็นธรรมชาติ ถือเป็นอาการแรกเริ่มที่กำลังบ่งบอกว่าอาจเป็นพังผืดเกิดขึ้นภายในได้ ซึ่งหากปล่อยเอาไว้ก็จะเข้าสู่ระดับต่อไปคือ หน้าอกเริ่มเปลี่ยนรูปร่างจากที่เคยกลมก็จะค่อยๆ บิดเบี้ยว มีความรู้สึกแข็งมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อสัมผัส และระดับสุดท้ายหน้าอกจะผิดรูปอย่างเห็นได้ชัด อาจมีอาการเจ็บทั่วบริเวณเต้านม และยังมีความแข็งที่เรียกว่าเป็นก้อนหินอีกด้วย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่าตัดเพื่อนำพังผืดออก
ในส่วนของการรักษาพังผืดนั้น ปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้การผ่าตัดเสมอไป โดยแพทย์จะประเมินจากอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งการวิธีรักษาพังผืดมีดังนี้
1. การนวดและใช้ยา ในระยะแรกของการเกิดพังผืดสามารถรักษาได้ด้วยการนวด เพื่อให้พังผืดลดความแข็งลง โดยที่ผู้นวดจะต้องมีความเข้าใจและรู้จักวิธีนวดที่ถูกต้อง และในการนวดแต่ละครั้งจะมีการใช้ยาบางชนิดช่วยกระตุ้นให้การนวดนั้นได้ผลมากขึ้นด้วย
2. การผ่าตัด โดยปกติแล้วจะใช้เมื่อเกิดพังผืดขึ้นในระดับที่ 3-4 ซึ่งการผ่าตัดสามารถทำได้ตั้งแต่การผ่าตัดเพื่อย้ายตำแหน่งและระดับของถุงเต้านม วิธีนี้จะช่วยให้เต้านมมีความนิ่มเป็นธรรมชาติมากขึ้น และพังผืดก็จะไม่มีผลต่อการทำให้เต้านมแข็งอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้วิธีผ่าตัดเพื่อนำถุงพังผืดออกได้ โดยวิธีนี้ใช้เปิดแผลผ่าตัดทางใต้รักแร้ได้ เพราะใช้กล้องในการผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีพังผืดเกิดขึ้นในระดับที่ 4 หรือระดับสูงสุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม พังผืดนั้นเป็นเนื้อเยื่อของร่างกาย ไม่ได้มีอันตรายหรือความรุนแรงต่อร่างกายมากนัก แต่จะมีผลในเรื่องของความสวยงาม ดังนั้นก่อนตัดสินใจศัลยกรรมจึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐานและแพทย์ที่มีความชำนาญ และหลังผ่าตัดควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพังผืดหลังศัลยกรรมขึ้นได้