ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เผยภาวะโภชนาการเด็กในอาเซียนล่าสุดยังน่าเป็นห่วง ทุพโภชนาการยังคงเป็นปัญหาหลัก
ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ร่วมกับ 4 สถาบันชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดผลสำรวจโครงการภาวะโภชนาการเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 2 หรือ SEANUTS II (South East Asian Nutrition Surveys II) ซึ่งเป็นการสำรวจเด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี จำนวนเกือบ 14,000 ราย จากประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ระหว่างปีพ.ศ. 2562 – 2564 โดยมุ่งศึกษาภาวะโภชนาการ การบริโภคอาหาร พฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการและสุขภาพของเด็ก
พบทุพโภชนาการถึง 3 ลักษณะ (Triple Burden of Malnutrition) ได้แก่ ภาวะโภชนาการทางด้านขาด (undernutrition) อาทิ ภาวะเตี้ยแคระเกร็น, การขาดสารอาหารกลุ่มรอง (micronutrients deficiencies) และ ภาวะโภชนาการเกิน ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน (overweight and obesity) ซึ่งมักพบร่วมในประเทศเดียวกัน หรือบางกรณีในครอบครัวเดียวกัน
ผลการศึกษาล่าสุดนี้ ต่อยอดจากการศึกษาภายใต้โครงการ สำรวจภาวะโภชนาการเด็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 หรือ SEANUTS I ในปีพ.ศ. 2555 โดยในครั้งนี้ยังพบปัญหาภาวะเตี้ยแคระแกร็นและภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ขณะที่เด็กโตประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และในภาพรวมยังพบว่าเด็กส่วนใหญ่ ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และพบกลุ่มที่มีภาวะพร่องวิตามินดี จากประเด็นปัญหาทุพโภชนาการ 3 ลักษณะข้างต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเติมเต็มช่องว่างทางโภชนาการที่ขาดหาย ผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ผลสำรวจเผยให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการเข้าถึงโภชนาการที่ดี
รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS II ในประเทศไทย อธิบายถึงผลว่า “โภชนาการที่ดี เกิดจากการบริโภคอาหารที่สมดุล ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม พอเพียงและมีความหลากหลายของอาหาร หากเด็กไม่ได้รับโภชนาการและสารอาหารที่จำเป็น ก็จะไม่สามารถเติบโตและมีพัฒนาการอย่างเหมาะสมได้ ผลสำรวจที่ประเมินจากการบริโภคอาหาร พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 ของเด็กในทั้ง 4 ประเทศที่เราทำการศึกษา ไม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ (เมื่อเทียบกับปริมาณค่าเฉลี่ยที่ควรได้รับในแต่ละวัน) และมากกว่าร้อยละ 84 ได้รับวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ ตัวเลขจากผลสำรวจเป็นสัญญาณสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโภชนาการ รวมถึงการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีสารอาหารสำคัญที่จำเป็นและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก”
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ บทบาทของอาหารเช้าต่อคุณภาพของอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน “เป็นเรื่องน่ายินดีที่เด็กไทยไม่ได้ละเลยการรับประทานอาหารเช้า หากแต่ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ไม่ใช่เด็กทุกคนที่รับประทานอาหารเช้า จะได้รับพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นอย่างวิตามินและแร่ธาตุเพียงพอ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าปริมาณแคลอรี่ในอาหารเช้า มีความสัมพันธ์กับคุณภาพอาหารที่ได้รับตลอดทั้งวัน ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก”
มาร์เกรเธ ยองค์มาน (Margrethe Jonkman) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยฟรีสแลนด์คัมพิน่า กล่าวว่า “การวิจัย คือ กุญแจสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของความต้องการด้านโภชนาการของคนในพื้นที่ต่างๆ การสำรวจครั้งนี้ ช่วยให้ฟรีสแลนด์คัมพิน่าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มอบโภชนาการที่ดียิ่งขึ้น ตรงตามความต้องการของเด็กในแต่ละพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น ในราคาที่เข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังช่วยต่อยอดสู่การออกแบบโครงการและกิจกรรมที่สนับสนุนและส่งเสริมการมีโภชนาการที่ดีและวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีต่อสุขภาพให้กับเยาวชน โดยร่วมมือกับหน่วยงาน สถานศึกษาและบุคลากรด้านโภชนาการและสุขภาพในแต่ละประเทศ”
ขณะที่ นายวิภาส ปวโรจน์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมถึงการต่อยอดโครงการสู่การดำเนินงานในระดับประเทศว่า “โครงการ SEANUTS ซึ่งได้ดำเนินการเป็นครั้งที่ 2 นี้ ช่วยให้เรามีความเข้าใจต่อความต้องการด้านโภชนาการของเด็กไทยทั่วประเทศในปัจจุบัน นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างความร่วมมือกับองค์กรรัฐ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับภารกิจหลักขององค์กรในการส่งมอบโภชนาการที่ดียิ่งขึ้นและเข้าถึงได้ให้แก่ทุกคน
เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ส่วนใหญ่ของเด็กไทย ได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่ควรได้รับจากการบริโภคอาหารในแต่ละวัน และเกือบครึ่งของเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี ต้องเผชิญกับภาวะโลหิตจาง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างกายและประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งปัญหาบางส่วนที่กล่าวมาข้างต้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับโภชนาการและอาหารที่เด็กควรบริโภคในแต่ละวัน ในฐานะหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ในการติดตามศึกษาภาวะโภชนาการ และการร่วมกับภาครัฐในการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านโภชนาการและอาหาร เพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้นของเราทุกคน”