สนจ. จับมือสถานทูตอิตาลี จัดงานเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ “Me and the Magic Door” ตามรอยสถาปัตยกรรมสมัย ร.5 และ ร.6
การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาประเทศทั่วทั้งโลกขององค์การสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 … สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) พร้อมเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวสู่เป้าหมายได้เป็นผลสำเร็จ ผ่านนโยบายการบริหารจัดการ การวิจัย และนวัตกรรม การเรียนการสอน ตลอดจนการเข้าถึง และมีส่วนร่วมกับสังคม จึงได้ร่วมมือกับสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย จัดงาน The Ultimate ‘Walk the Talk’ : Italian Architecture and Style in Siam by CU Alumni Connex พร้อมเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ “Me and the Magic Door” ตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณทั้งสองพระองค์ ณ CU Alumni Connex อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัตนาวลี โลหารชุน ประธานกิจกรรมโครงการ CU Alumni Connex กล่าวว่า “เพราะทุกการพัฒนามีที่มาและอุดมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับยุคทองของสถาปัตยกรรมในประเทศไทยในสมัยล้นเกล้า ร.5 และ ร.6 ที่ทรงพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม การเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและอยู่คู่ประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ สอดคล้องกับความตั้งใจของพวกเราชาวจุฬาฯ ที่มุ่งสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่เป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน สนับสนุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นหนึ่งในด้านที่ถูกบรรจุอยู่ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ด้วย
CU Alumni Connex ภายใต้การบริหารของ สนจ. ถือเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาฯ สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและชั้นนำของไทย จึงได้ร่วมมือกับสถานทูตอิตาลีจัดงานนี้ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณทั้งสองพระองค์ ถึงแม้เราจะไม่ได้เกิดในสมัยนั้น แต่เราก็สามารถเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าผ่านถ้อยคำจากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ รวมถึงการรับชมภาพยนตร์สารคดีที่ช่วยทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตขึ้น เห็นภาพง่ายต่อการเรียนรู้และจดจำ และเพราะสายสัมพันธ์รวมถึงการช่วยเหลือกันมีความสำคัญ สามารถต่อยอด พัฒนาสู่วงกว้างได้อย่างยั่งยืน
CU Alumni Connex จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประชาคมชาวจุฬาฯ และนิสิตเก่าให้ได้มาพบปะกัน ร่วมพูดคุย ระดมความคิด สร้างสรรค์นวัตกรรม กิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมด้วยกัน โดยเราถือโอกาสย้อนรอยประวัติศาสตร์สู่การเรียนรู้ผ่านการเสวนาและชมภาพยนตร์สารคดีรอบพิเศษ “Me and the Magic Door” ที่เคยจัดฉายมาแล้วที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสและเมืองตูริน สถาบันต้นกำเนิดของสถาปนิกและนายช่างที่มารับราชการในสยาม เป็นกิจกรรมแรกที่ CU Alumni Connex จัดขึ้น เรายังคงสรรสร้าง สรรหากิจกรรมดีๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ สมาชิก สนจ. ยังสามารถใช้บริการห้องของ CU Alumni Connex โดยติดต่อได้ที่ 081-508-7475”
สำหรับการเสวนาตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัย ร.5 และ ร.6 ในครั้งนี้ ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้แบ่งปันไว้ว่า “ย้อนไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามเริ่มมีการก่อร่างสร้างบ้านเมือง สมัย ร.3 สถาปัตยกรรมแบบจีนเริ่มเข้ามามีบทบาท สมัย ร.4 มีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น เรื่อยมาจนถึงต้น ร.5 ช่างอิตาเลียนได้เข้ามาสู่สยามและเริ่มต้นมีบทบาทในการสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ อย่างมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมคลาสสิกก็ว่าได้
ถ้าสังเกตเราจะเห็นได้ว่า สยามได้ใช้ช่างจากประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ในการออกแบบและสร้างตึกรามบ้านช่องมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ามองในมิติของการเมืองการปกครองแล้ว ทั้ง 3 ประเทศนี้ ถือเป็นประเทศมหาอำนาจ มีอาณานิคม แต่อิตาลีเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีอาณานิคม ไม่มีส่วนได้เสียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เป็นภัยคุกคาม ในมิติของสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง อิตาลีมีพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี มีโครงสร้างการก่อสร้างที่ทันสมัย และยังมีโรงเรียนที่ตูริน โรงเรียนที่สร้างสถาปนิกและวิศวกรชั้นนำ ซึ่งช่างในสมัย ร.5 และ ร.6 ส่วนใหญ่จะจบจากสถาบันแห่งนี้ ในสมัยนั้นหลายๆ ชาตินิยมใช้การก่อสร้างแบบคลาสสิกในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสถาปนิกส่วนใหญ่จะเป็นทั้งชาวอิตาเลียนและชาวเยอรมัน ฉะนั้นจึงเรียกได้ว่า ช่างชาวอิตาเลียนจะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ โดยเฉพาะงานศิลปกรรม ประติมากรรม งานหินอ่อนมากกว่าชนชาติอื่นๆ
บางกอกในสมัย ร.5 ผู้ทรงครองราชย์ 40 ปีเศษ จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะทางกายภาพ การขยายตัวของเมือง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาของสุขาภิบาล การสาธารณสุข การคมนาคม ทั้งรถเมล์ รถยนต์ รถไฟ รวมถึงการขยายพื้นที่ของเมืองออกไปทั้งทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก การตัดถนน การวางระบบไฟฟ้า ระบบประปาล้วนเป็นสิ่งจำเป็น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้พัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กับสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น
และสถาปัตยกรรมที่งดงามเหล่านี้ ยังทรงคุณค่าและงดงามมาจวบจนถึงปัจจุบัน อาทิ วังพญาไทที่สร้างขึ้นในสมัย ร.5 และบ้านพิษณุโลก เดิมชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านสมัย ร.6 เป็นต้น ซึ่ง CU Alumni Connex เราได้จัด One Day Trip เยี่ยมชมบ้านพิษณุโลก และวังพญาไท ในวันที่ 14 และ 15 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเป็นการขออนุญาตเปิดวังและเปิดบ้าน เพื่อการเรียนรู้เป็นกรณีพิเศษ โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเต็มจำนวนไปแล้ว”
รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า “ช่างอิตาเลียนส่วนใหญ่จะจบสถาปัตยกรรม มีความเชี่ยวชาญด้านการช่าง วาดรูป วิศวะ และที่สำคัญมีความเข้าใจพื้นฐานและความต้องการของสยาม เท่าที่พบหลักฐาน รัฐบาลสยามในตอนนั้นได้ติดต่อไปยังศาสตราจารย์ใหญ่ ที่ Academy of Fine Art ที่เมืองตูรินและโรงเรียนช่างวิศวกรรมอีกแห่งหนึ่ง เหล่าอาจารย์ต่างคัดเลือกลูกศิษย์ให้มาช่วยงาน คัดเลือกตามความเชื่อมั่นของอาจารย์และเป็นลูกศิษย์ที่ยังเพิ่งจบได้เพียง 3 – 4 ปี ซึ่งมีความพร้อมในการเดินทางมารับราชการในสยามได้เป็นเวลานานๆ เพราะการก่อสร้างในแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน บางคนอยู่ 20 กว่าปีขึ้นไป เพราะการเดินทางจากอิตาลีมาถึงสยามในสมัยนั้นต้องใช้เวลาเดินทางราวๆ 30 วัน และไม่ได้สะดวกสบายเช่นทุกวันนี้
ทางคณะและคณาจารย์ต่างๆ เราพยายามหาข้อมูลของสถาปนิกทุกคนที่เดินทางเข้ามารับราชการในสยามช่วงนั้น เพื่อนำมารวบรวมเป็นความรู้ในรูปแบบของดิจิทัล แพลตฟอร์ม ให้คนไทยได้เข้าถึงเนื้อหาความรู้ในส่วนนึ้ เราพยายามนำประวัติศาสตร์อีกช่วงหนึ่งที่สำคัญให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ อันทรงคุณค่า เรียนรู้จากรากเหง้าต้นกำเนิด เรียนรู้จากแหล่งที่มา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตนำไปสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด”
CU Alumni Connex เปิดให้บริการ วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 8.00 – 21.00 น. ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยสมาชิก สนจ. ต้องสำรองก่อนการเข้าใช้บริการเท่านั้น ติดต่อได้ที่ 081-508-7475
ภาพยนตร์สารคดี “Me and the Magic Door” ตามรอยประวัติศาสตร์และที่มาของสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าในสมัย ร.5 และ ร.6
จุดประกายไอเดียของการเดินทางกลับสู่ประวัติศาสตร์ผ่านประตูวิเศษณ์
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ของสถานการณ์การระบาดของโควิด ฟรานเชสก้า อันเดรอินิ ผู้เขียนบทและภริยาของ มร.โลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยคนก่อน ได้มีโอกาสอ่านงานของเหล่าอาจารย์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ออกแบบและก่อสร้าง โดยสถาปนิกและช่างชาวอิตาเลียนแล้วรู้สึกประทับใจและชื่นชอบ จึงอยากจะขอทำเป็นภาพยนตร์สารคดี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับอิตาลีที่มีความเป็นมิตรต่อกันมาอย่างยาวนาน
ผู้เขียนบทอยากนำเสนอความเป็นจริงผ่านมุมมองความเป็นมาของประวัติศาสตร์ และหวังอยากให้ผู้ที่มีโอกาสรับชมภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ เกิดความรู้สึกรักในพื้นที่ของเมือง หวงแหนและช่วยกันรักษา ซึ่งอาจจะมีบางพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมือง เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง บ้านพิษณุโลก บ้านนรสิงห์
จับมือกันเปิดประตูวิเศษณ์
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักพระราชวังและกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงหน่วยปฏิบัติการวิจัย The Arc of Memory จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้สามารถเข้าไปถ่ายทำในวังบางแห่ง สถานที่ราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก และอื่นๆ รวมถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับอาคาร ที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยสถาปนิก วิศวกร และศิลปินชาวอิตาเลียนที่ทำงานในสยามเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว
ประตูวิเศษณ์กับการเดินทางสู่ประวัติศาสตร์ในครั้งนี้
“Me and the Magic Door” เป็นเรื่องราวของฝ้าย สาวลูกครึ่งไทย-อิตาลี ที่มีเรื่องราวฝังใจจากคำบอกเล่าของพ่อ ผู้เป็นคนไทยเกี่ยวกับ the Magic Door หรือประตูวิเศษณ์ เธอจึงได้บินจากอิตาลีมาประเทศไทย พร้อมกับหนังสือหนึ่งเล่ม Italians At The Court Of Siam ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและผลงานของสถาปนิก นายช่าง และศิลปิน ชาวอิตาเลียนที่มารับราชการในสยาม
ทุกสถานที่ที่เธอไป เธอจะนำหนังสือเล่มนี้ไปด้วย เพื่อดูเรื่องราวและ บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่นั้นๆ ซึ่งความน่าสนใจของภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ยังถูกเชื่อมโยงไว้กับวิญญาณของนายช่างชาวอิตาเลียนที่ติดตามเธอไปในทุกสถานที่ บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ “Me and the Magic Door”