สสส. เปิดผลวิจัย 1 ปีโคแฟค (ประเทศไทย) พบประชาชน 97% เผชิญหน้าข่าวลวง

0 0
Read Time:4 Minute, 55 Second

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ โคแฟค (Cofact) และภาคีเครือข่าย เปิดผลสำรวจเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของโคแฟค (ประเทศไทย) พบประชาชน 97% รับว่าเคยพบเห็นข้อมูลข่าวลือข่าวลวง โดยข่าวลวง 3 อันดับแรกอยู่ในแวดวงสุขภาพทั้งหมด ประชาชนขอสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยคัดกรองข้อเท็จจริง

ขณะที่วงเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 17 เปิดประเด็น “How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ” ตัวแทนจากหลากหลายสาขาร่วมกันเปิดมุมมอง ชี้ทางแก้ไขระยะสั้นสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มมีบทบาทสำคัญ แต่ในระยะยาวต้องสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีทักษะการสื่อสารรับผิดชอบต่อสังคม

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายในการสร้างสังคมสุขภาวะ และตระหนักดีว่าการจะเกิดสังคมสุขภาวะได้นั้น จำเป็นจะต้องเกิดสังคมแห่งปัญญาก่อน เรื่องของข้อมูลข่าวสารเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของการสร้างความรู้และปัญญา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนนวัตกรรมโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกในการทำให้ข้อมูลสารสนเทศที่กระจายอยู่ในสังคม เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เพราะหากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่สับสน ไม่ใช่ข้อเท็จจริง นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งกายและใจแล้ว ยังนับเป็นบ่อนทำลายปัญญาและจิตวิญญาณตั้งแต่ในระดับปัจเจกไปจนถึงสังคมโดยรวม

คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีการทำงานของโคแฟค (ประเทศไทย) จึงได้มีการวิจัยสำรวจข้อมูลจากประชาชนในหลากหลายกลุ่ม โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมโคแฟคและแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน พร้อมจัดเวทีเสวนาออนไลน์นักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 17 เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่รับฟังมุมมองจากผู้เข้าร่วมเสวนาที่มาจากหลากหลายสาขา ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักการศึกษา และตัวแทนจากแวดวงกฎหมาย ที่จะมาช่วยกันมองปัญหาและหาทางออกในการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ปัญหาข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เป็นเท็จ ซึ่งวันนี้ไม่ได้เกิดจากสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่ต้นตอความสับสนของข้อมูลข่าวสารนั้นมาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สื่อมวลชน ประชาชนทุกคน ไปจนถึงตัวของแพลตฟอร์มที่มีบทบาทมากในยุคปัจจุบันนี้คือสื่อโซเชียลมีเดีย

ด้าน ดร.รดี ธนารักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และตัวแทนทีมโคแฟคภาคเหนือ ได้นำเสนอผลสำรวจข้อมูล “ทำไมต้องค้นหาความจริงร่วม : Why Cofact matters เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีโคแฟคประเทศไทย” โดยได้ทำการสำรวจประชาชนในทุกภูมิภาค ครอบคลุมตั้งแต่นิสิตนักศึกษา ภาคีเครือข่าย และประชาชนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดีย ผลสำรวจพบว่า 97% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยได้รับข่าวที่สงสัยว่าเป็นข่าวลวง โดยส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารที่สงสัยว่าเป็นข่าวลวงจาก 2 แหล่งใหญ่คือ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และจากกลุ่มผู้รู้จักใกล้ชิด โดย 1 ปีที่ผ่านมา ข่าวลวง 3 อันดับแรกที่พบเป็นข่าวในแวดวงสุขภาพทั้งหมด อันดับที่ 1 คือข้อมูลสรรพคุณเกินจริงของถั่งเช่าและอาหารเสริมอื่นๆ อันดับที่ 2 ข่าวลวงเรื่องฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้ และอันดับที่ 3 เป็นข่าวลวงเรื่องมะนาวโซดารักษามะเร็งและโควิดได้ ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสำรวจได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา โดยอันดับ 1 คิดว่าสื่อมวลชนควรเป็นหลักในการช่วยตรวจสอบอย่างทันท่วงที ไม่ผลิตซ้ำข่าวลวง อันดับที่ 2 คือแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ควรเพิ่มฟังก์ชั่นในการเตือนข่าวลวง และอันดับที่ 3 ควรเพิ่มทักษะพลเมืองดิจิทัลในหลักสูตรการเรียนรู้ทุกระดับ และควรมีแพลตฟอร์มเฉพาะเพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข่าวลวง เช่น โคแฟค โดยส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามยังให้ความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมโคแฟคเป็นกลไกที่น่าเชื่อถือในการตรวจสอบข่าวลวง

ในส่วนของเวทีเสวนาออนไลน์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญตัวแทนจากหลากหลายสาขามาร่วมกันระดมความคิดในหัวข้อ “How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ” ได้รับเกียรติจาก คุณเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษา ThaiPBS ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Arkki ประเทศไทย และ พ.ต.ท.(หญิง) เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ รองผู้กำกับ กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท.บช.สอท.

ทั้งนี้ คุณเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษา ThaiPBS ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โควิด ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นช่องทางในการปล่อยข่าวลวง สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่ทุกประเทศในอาเซียนขณะนี้กำลังพบปัญหานี้เหมือนกันหมด ความน่ากังวลของข่าวลวง ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ข่าวปลอมที่สร้างกระแสความเกลียดชัง ก็เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจในระยะยาว เพราะเป็นข่าวที่ไม่สามารถหักล้างด้วยข้อเท็จจริงได้ สำหรับการรับมือในสถานการณ์เฉพาะหน้านั้น สื่อมวลชนหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่างโคแฟค จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการยับยั้งข่าวลวง ให้ข้อเท็จจริง แต่ในระยะยาว สิ่งสำคัญคือการสร้างคนรุ่นใหม่ไม่ให้หลงเชื่อข่าวลวง มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นต้นตอในการปล่อยข่าวลวง เพราะทักษะการสื่อสารในวันนี้ ไม่ได้จำกัดแค่คนที่เรียนในวงการสื่อมวลชนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นทักษะจำเป็นในชีวิตของพลเมืองทุกคนในสังคม

สำหรับผลงานวิจัย “ทำไมต้องค้นหาความจริงร่วม : Why Cofact matters เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีโคแฟคประเทศไทย” และ การเสวนาออนไลน์ นักคิดดิจิทัลครั้งที่ 17 “How to รับมือปัญหาข้อมูลสับสน/ข่าวสารลวงหลอก บทเรียนไทยและเทศ” เป็นหนึ่งในโครงการที่ สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย โคแฟค (ประเทศไทย) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสังคมสุขภาวะ โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสาร “บทเรียนและข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน” และรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่เพจ Cofact โคแฟค

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

%d bloggers like this: