กกท. ปลื้มคนไทยร่วมสร้างสถิติกระโดดเชือกออนไลน์ ปี 2 “โดด เดี่ยว สร้างพลัง”
จบภารกิจพิชิตสุขภาพดีกันไปอย่างประทับใจอีกหนึ่งรายการ สำหรับกิจกรรมกระโดดเชือกออนไลน์ SAT Virtual Jumprope Season 2 “โดด เดี่ยว สร้างพลัง” กระแสตอบรับดีเยี่ยมคนไทยแห่ร่วมกิจกรรมกว่า 6,000 คน ก่อนปิดฉากด้วยสถิติกระโดดเชือกกว่า 116 ล้านครั้ง พร้อมต่อยอดความสำเร็จสู่ซีซั่น 3
ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมกระโดดเชือกออนไลน์ SAT Virtual Jumprope Season 2 “โดด เดี่ยว สร้างพลัง” ที่จัดขึ้นโดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้มีสุขภาพดีแบบเว้นระยะห่างปลอดภัยจากโควิด-19 ภายใต้วิถีปฎิบัติใหม่ (New Normal) ถือว่าปิดฉากด้วยความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดเมื่อแบ่งตามประเภทของกิจกรรม พบว่าประชาชนให้ความสนใจในระดับ Fun Jumper “กระโดดเพื่อความสนุก” เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ ระดับ Fit Jumper “กระโดดเพื่อสุขภาพ” และอันดับที่ 3 ระดับ Firm Jumper “กระโดดเพื่อหุ่นที่ดี” และเมื่อนับผลจำนวนที่กระโดดตามกติกาทางระบบออนไลน์ ระยะเวลา 40 วัน รวมกันได้ถึง 116,162,590 ครั้ง
“ปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมอย่างล้นหลาม กว่า 6,100 คน ผมก็ต้องขอโทษจริงๆ หากรับได้มากกว่านี้ก็จะเพิ่มจำนวนอีก เพราะมีผู้ที่ผิดหวังอยากจะสมัครแต่ก็เต็มอย่างรวดเร็ว ด้วยเรารับได้จำนวนจำกัด แต่ก็ในคราวหน้าจะปรับปรุงให้ดีขึ้น จะเปิดรับสมัครคนร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นอีก ในปีนี้ระยะเวลา 20 วัน จำนวนเฉลี่ยต่อวันที่มีคนเข้าไปกระโดดเชือกประมาณ 5,800,000 ครั้งต่อวัน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นสถิติใหม่นะครับ เราไม่เคยมีสถิติสูงขนาดนี้เลย กระโดดรวมเป็นร้อยล้านครั้ง ทุกอย่างเป็นสถิติใหม่ของประเทศไทย และคนที่ร่วมกิจกรรมจะเป็นวัยกลางคนเป็นคนที่ทำงาน ช่วงอายุประมาณ 30 จนถึง 50 ปี เป็นส่วนใหญ่ เพราะช่วงโควิด-19 ต้อง work from home (เวิร์ค ฟอร์ม โฮม) เป็นช่วงที่คนที่อยู่บ้าน อยากออกกำลังกาย ไม่สามารถเดินทางไปได้ ต้องออกกำลังกายอยู่บ้านเป็นหลัก”
“จากผลตอบรับและความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีนี้ เราได้เตรียมวางแผนการจัดกิจกรรมกระโดดเชือกออนไลน์ ซีซั่น 3 เอาไว้แล้ว เพราะผมคิดว่ามีความความคุ้มค่าอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของเม็ดเงินและเรื่องของการตื่นตัว ตอนนี้กีฬากระโดดเชือกมีทั้งนักกีฬาจริงและนักกีฬาสมัครเล่นขาจร คือในอดีตเป็นเรื่องของการออกกำลังกายเฉยๆ เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมของนักกีฬาแต่ละชนิดกีฬา แต่ปัจจุบันเรามีสมาคมกระโดดเชือกแห่งประเทศไทย มีการปั้นนักกีฬาส่งเพื่อแข่งขันกีฬาเป็นเลิศ 2 กลุ่ม มีดาวรุ่งที่จะเป็นตัวแทน ไปแข่งนานาชาติกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มใหญ่ที่ผมคิดว่าประสบความสำเร็จมาก คือ ประชาชนทั่วไป เพราะว่าเราอยากที่จะสร้างกระแสในการอออกกำลังกายอยู่บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปไหน เป็นการจัดกิจกรรมแบบ นิวนอร์มอล เล่นที่ไหนก็ได้ แล้วก็ใช้พื้นที่ไม่เยอะ ซึ่งก็สอดคล้องกับสถาณการณ์ในช่วงโควิด 19 อย่างยิ่ง และข้อมูลจากแบบสอบถามของประชาชนที่ร่วมกิจกรรมต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์เพราะเป็นทางเลือกใหม่ของการออกกำลังกายซึ่งสามารถทำได้ง่ายมาก และจะยังคงออกกำลังกายในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ สัปดาห์ละ 3-5 วันแม้จะจบกิจกรรมในปีนี้ไปแล้วก็ตาม”