มหิดลเพื่อสังคม สโมสรนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศจุดยืนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
วันที่ 24 กันยายน 2567 เนื่องในวันมหิดล ทางสโมสรนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ทางหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ (สปสส.) จัดกิจกรรม “มหิดลเพื่อสังคม” โดยการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่รอบคณะสาธารณสุขศาสตร์ และพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทราบถึงภยันตรายและข้อกฎหมายของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญที่กำลังแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยในขณะนี้
นายรัชชานนท์ สุขเจริญ นายกสโมสรนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สโมสรนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นองค์กรของนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านกิจกรรมให้กับนักศึกษา นอกจากการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติ ซึ่งนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล เราทุกคนให้ความสำคัญต่อปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในหมู่เด็กและเยาวชน และเนื่องในวันมหิดล วันนี้ทางสโมสรนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอประกาศจุดยืนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
อ.จุฑาทิพย์ คงปั้น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคม อาทิ ปัญหาการเป็นประตูเปลี่ยนผ่านไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา หรือการใช้ยาเสพติดอื่นๆ ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจาก ยังไม่มีองค์กรใดๆ รับรองว่า “บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย” ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้และความตระหนักถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าให้กับสังคมรอบๆ คณะจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของคณะเพื่อสร้างการรณรงค์ให้สังคมรับทราบ และตระหนักร่วมกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่เราในฐานะบุคลากรด้านสุขภาพและในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งต้องร่วมกันส่งเสียงต่อสาธารณะให้หลีกไปจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้
อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยสุขภาพ (สปสส.) กล่าวว่า ในฐานะศิษย์เก่า รู้สึกยินดีที่น้อง ๆ สโมสรนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล ให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศ และมีการประกาศจุดยืนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากในปัจจุบัน สถานการณ์ในเรื่องนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า มีความพยายามของผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่พยายามแทรกแซงให้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งผิดกฎหมายให้ขึ้นมาบนดิน ซึ่งเราในฐานะบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพมีความกังวลถึงการเพิ่มการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนหนักกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นไปได้ระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเราต้องพร้อมและเคร่งครัดในการบังคับใช้มากกว่านี้ ตลอดจนต้องร่วมกันสื่อสารสู่สาธารณะถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าร่วมไปด้วยกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์โดยประชาชนทุกคนเห็นร่วมกัน สุดท้ายนี้ขอให้กิจกรรมของน้องๆ คณะเป็นหนึ่งเสียงสู่ผู้กำหนดนโยบาย และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อการปกป้องสุขภาพของเด็กๆและเยาวชนจากภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไป