ผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนพฤติกรรมมนุษย์อันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566

0 0
Read Time:5 Minute, 42 Second

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย มอบรางวัลชนะเลิศ การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566 แก่นางสาวปรัชญา เจริญสุข อายุ 26 ปี จากผลงาน ปากน้ำชุมพร ที่มีความโดดเด่นที่สุดจากผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้

นางสาวปรัชญา ใช้เวลากว่า 2 เดือนในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ด้วยเทคนิคสื่อผสมบนผ้าใบ (ไมโครพลาสติก) โดยนำเสนอข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายของไมโครพลาสติกอันเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อและการเพิกเฉยของมนุษย์ในกิจกรรมและการกระทำต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของคุณปรัชญาเป็นผลงานที่กระตุ้นความนึกคิดให้เห็นถึงปัญหาไมโครพลาสติกที่อยู่ใกล้ตัวเรา การใช้ไมโครพลาสติกเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์งาน ได้สื่อสารข้อความที่กระทบใจผู้ชมได้เป็นอย่างดี เน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นและความเร่งด่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในอนาคต”

“เช่นเดียวกับคุณปรัชญา ยูโอบีมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในตลาดอาเซียนของเรา ในฐานะธนาคารที่มีเครือข่ายครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาค เราพร้อมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับเพื่อนพนักงาน ลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ดังเช่นผลงาน ปากน้ำชุมพร ที่ได้สะท้อนภาพความเสียหายเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน คืออนาคตที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ขอให้ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้พวกเราทุกคนลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”

สำหรับคณะกรรมการตัดสินการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566 ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการตัดสิน อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติปี 2563 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม-สื่อผสม) ที่ปรึกษามูลนิธิสงขลาเมืองเก่า และกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล ศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิด้านทัศนศิลป์

สัญลักษณ์ของการละเลยของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม
นางสาวปรัชญา กล่าวถึงผลงาน ปากน้ำชุมพร ว่า “ปากน้ำเป็นบริเวณพื้นที่ที่เชื่อมจากลำคลองสู่ทะเล ความเชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของผู้คนกับการจัดการขยะที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ดิฉันต้องการสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันล้วนเกิดจากวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นและการบริหารจัดการขยะที่ไม่ดีพอของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

“จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นเมื่อดิฉันเห็นขยะและไมโครพลาสติกจำนวมหาศาลบนชายหาด ดิฉันต้องการสื่อให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านผลงานศิลปะ และหวังจะสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ในวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ได้ชมภาพลงมือทำบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”

คณะกรรมการตัดสินลงความเห็นว่าผลงานของนางสาวปรัชญามีความโดดเด่นและสื่อสารข้อความถึงปัญหาได้อย่างกระทบความรู้สึก ทั้งยังสะท้อนกระบวนการทางความคิด วิธีการสร้างสรรค์และความสามารถในการเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับภัยคุกคามที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ นอกจากนั้น ยังชื่นชมเทคนิคของศิลปินในการใช้ไมโครพลาสติกซึ่งได้ลงพื้นที่ชายหาดในบ้านเกิดของเธอเพื่อเก็บ ร่อน ทำการคัดแยก และนำไปประยุกต์ใช้ในงานศิลปะของศิลปิน

ในฐานะผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ UOB Painting of the Year ประเภทศิลปินอาชีพ การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566 ของประเทศไทย นางสาวปรัชญา เจริญสุข ได้รับเงินรางวัลจำนวน 750,000 บาท และจะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าแข่งขันกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม เพื่อชิงรางวัลระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year ประจำปี 2566 และโอกาสที่จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเป็นศิลปินในพำนัก (artist in residence) เป็นเวลา 1 เดือน ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (Fukuoka Asian Art Museum)

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น ได้แก่ นายสันติภาพ เพ็งสวย อายุ 22 ปี จากผลงาน “Joy” ด้วยเทคนิคสื่อผสมบนผ้าใบ ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ศิลปะในห้องเรียน

นายสันติภาพ กล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของผมเมื่อครั้งมีโอกาสเป็นครูฝึกสอนในโรงเรียนขยายโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยผมปรารถนาที่จะนำความสุขมาสู่นักเรียนในชั้นเรียนศิลปะของผมผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ โดยมีอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ พร้อมกิจกรรมต่างๆในชั้นเรียนศิลปะเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงานสร้างสรรค์ของผมชิ้นนี้”

“ผมดีใจมากที่ผลงานศิลปะของผมมาได้ไกลถึงจุดนี้ และได้รับรางวัลจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี สำหรับผม แนวคิด ขั้นตอนและกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานคือสิ่งสำคัญที่สุด ภาพผลงานได้สะท้อนความสุขของเด็กๆ ที่ได้รับการเติมเต็มจากศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากสื่อสารให้กับคนที่มาชมงาน”

นิทรรศการจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566
ผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งประเภทศิลปินอาชีพและประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น จะจัดแสดง ณ สถานที่ 2 แห่ง ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สถานที่ ระยะเวลาการจัดแสดง
ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

(BACC)

วันที่ 12- 29 ตุลาคม 2566
ชั้น 1 อาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ วันที่ 30 ตุลาคม 2566 – 5 มกราคม 2567

การประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566 (UOB Painting of the Year) เป็นส่วนหนึ่งของการประกวดผลงานจิตรกรรมประจำปีของธนาคาร ที่ธนาคารยูโอบีมุ่งค้นหาและสนับสนุนศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่าในภูมิภาค นับเป็นหนึ่งในการประกวดผลงานศิลปะประจำปีที่ทรงเกียรติที่สุดของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเปิดรับศิลปินในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนามเข้าร่วมประกวด

ผู้ได้รับรางวัล ประเภทศิลปินอาชีพ
ผู้ได้รับรางวัล ประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น

รายชื่อผู้ได้รับรางวัลในการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประจำปี 2566

รางวัล ผู้ชนะ อายุ ชื่อผลงาน เงินรางวัล
ประเภทศิลปินอาชีพ
UOB Painting of the Year Award ปรัชญา เจริญสุข 26 ปากน้ำชุมพร 750,000 บาท
เหรียญทอง ศักชัย อุทธิโท 55 เมือง 300,000 บาท
เหรียญเงิน สมรักษ์ มณีมัย 49 ตากเสือ 240,000 บาท
เหรียญทองแดง นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส 48 แอปเปิลลูกที่ 4 150,000 บาท
ประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น
Most Promising Artist of the Year Award สันติภาพ เพ็งสวย 22 Joy 125,000 บาท
เหรียญทอง เจนจิรา พุ่มดอกไม้ 27 ความทุกข์ทรมาน 90,000 บาท
เหรียญเงิน ณัฐวุฒิ ธรรมเรืองฤทธิ์ 25 แรงงาน ความหวัง ความฝัน 60,000 บาท
เหรียญทองแดง อากีล๊ะ สะมะแอ 23 ภาพอดีต 2 45,000 บาท
Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

%d bloggers like this: