เจาะแนวโน้มควบรวมรับพายุเศรษฐกิจ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ชี้บริษัทสื่อสารทั่วโลกต่างปรับตัว แนะธุรกิจไทย ปรับโครงสร้าง เสริมแกร่งการเงิน รับมรสุมเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของโลก
นายอเล็กซ์ ดาฮิกซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม บริษัท BAIN & COMPANY บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ต้องเร่งปรับตัว ปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การควบรวมในอุตสาหกรรมคมนาคมถือเป็นตัวอย่างการเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่ยากจะคาดเดา และผลกระทบจากภาพใหญ่ระดับโลก โดยโอเปอเรเตอร์มือถือทั่วโลกได้ใช้วิธีการควบรวม เพื่อเตรียมพร้อมรับพายุเศรษฐกิจ ในการลดภาระทางการเงิน ลดต้นทุนซ้ำซ้อน และเตรียมการในการพัฒนาศักยภาพใหม่ เพื่อรับรูปแบบตลาดและเศรษฐกิจใหม่ในยุคต่อไป ในขณะเดียวกัน การปรับตัวของกฎระเบียบ การปรับตัวของการกำกับดูแลที่ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ ทำให้เห็นการปรับตัวเกิดการควบรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก
ทั้งนี้ในสภาพความผันผวนมรสุมเศรษฐกิจทั่วโลก มี 4 ผลกระทบหลัก ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรองรับเพื่อความอยู่รอด และในทุกอุตสาหกรรมต้องดำเนินแนวทางการปรับตัวเช่นเดียวกัน โดย IMF ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2022-23 ไว้ว่าจะมีผลกระทบ 4 ด้านหลัก
สงครามยูเครน การรุกรานของรัสเซีย และการถูกคว่ำบาตรของรัสเซียส่งผลกระทบ โดยตรงกับยูเครน รัสเซีย และเบลารุส และผลกระทบจะขยายไปในวงกว้างขึ้น ทั้งทางด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่สูงขึ้น การค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งความเชื่อมโยงทางการเงินไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะยุโรป
ภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และความผันผวนในตลาดการเงินที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ก่อนเกิด สงคราม เงินเฟ้อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งใช้ นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจหลักเพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว สอดคล้องกับประเทศเกิดใหม่หลายประเทศที่ได้ดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด เช่นเดียวกัน ยกเว้นประเทศจีนที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ นโยบการเงินที่คาดว่าจะเข้มงวดขึ้นต่อเนื่องและความกังวลเกี่ยวกับสงครามทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนมาก
การสนับสนุนจากนโยบายการคลังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก Policy Space ของนโยบาย การคลังถูกบั่นทอนจากการใช้จ่ายในระดับสูงช่วง COVID-19 ขณะที่รายได้จากภาษีที่ลดลง ในช่วงวิกฤติ ทำให้การสนับสนุนจากนโยบายการคลังในปี 2022-23 จะลดลงโดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลัก เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ส่งผลในวงกว้างต่อประเทศในภูมิภาค และประเทศที่ส่งออกสินค้า โภคภัณฑ์ การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและนโยบาย Zero Covid ทำให้มีโอกาสที่จีนจะล็อกดาวน์มาก ขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลมากต่อการอุปโภคบริโภคในประเทศจีน
โรคระบาดและการเข้าถึงวัคซีน การประมาณการของ IMF ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การฉีดวัคซีนครบโดสในหลายประเทศยังไม่ครอบคลุมประชากรถึง 70% ทำให้มีโอกาสที่จะมีการแพร่ระบาดได้อีก อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดลงจากการที่ คนเราสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ รวมถึงวิธีการรักษาที่พัฒนาขึ้น
ขณะเดียวกัน Mckinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ได้เผยแพร่บทความเรื่อง อนาคตของการควบรวมในธุรกิจ โทรคมนาคม The future of M&A in telecom เขียนโดย จีน คริสโตเฟอร์ เลอ บราวน์ ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก โดยกล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาการเกิดการควบรวมจำนวนมากในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งนี้เนื่องจากจากมูลค่าของอุตสาหกรรมนั้นได้ลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมแบกภาระต่อไปไม่ไหว ต้องอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถแข่งขันเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ เช่น การควบรวมของโอเปอเรเตอร์ในยุโรป อเมริกาเหนือ
ทั้งนี้ แมกคินซี่ แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องทำการควบรวม ด้วย 3 เหตุผลด้วยกัน คือ 1) การควบรวม เพื่อให้ขนาดสามารถแข่งขันได้ (Gain scale for competition) ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบางประเทศ ผู้นำตลาด เป็นผู้นำเดี่ยว ทำให้มีความได้เปรียบจากการใช้ Scale Benefit หากนำผลการศึกษามาเปรียบเทียบกับประเทศไทย พบว่า เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้คู่แข่งขันมีแนวโน้มในการควบรวมเพื่อลดช่องว่างด้านขนาด เป็นต้น
2) การควบรวมของโอเปอร์เรเตอร์ในประเทศมีมากขึ้น เนื่องจากความต้องการในการลดต้นทุน (The amount of in-country consolidation for cost reduction) เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำเสนอบริการที่มีราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น ดังตัวอย่างประเทศไทย ที่โอเปอเรเตอร์มีต้นทุนค่าไลเซนต์ ค่าคลื่น ค่าอุปกรณ์เน็ตเวิร์คในราคาสูงมาก ทำให้ภาวะต้นทุนยากต่อการแข่งขัน อีกทั้งมรสุมเงินเฟ้อ ในอนาคตจะกดดันดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น การที่ผู้ประกอบการปรับตัว ก็จะทำให้ต้นทุนลดลง เป็นต้น
3) ผู้ประกอบการต้องการควบรวม เพื่อให้บริการดิจิทัลอื่น ที่มีมูลค่าสูงกว่า Operator decisions to expand aggressively in non-core areas. เพื่อไปแข่งในเวทีดิจิทัล ที่มีการให้บริการแบบบนก้อนเมฆ ( Cloud Solution) ครอบคลุม IOT, Digital Service
สำหรับประเทศไทยมีการปรับตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่า การควบรวมเกิดขึ้นมาตั้งแต่มกราคม 2561 จากการควบรวมการสื่อสารแห่งประเทศไทย และองค์การโทรศัพท์ รวมถึงการปรับโครงสร้างของเอไอเอส และการมีผู้ถือหุ้นใหม่จากกัลฟ์ กระทั่งมาถึงรายสุดท้าย คือ การควบรวมทรูและดีแทค ถือเป็นการปรับตัวรองรับมรสุมพายุที่กำลังจะเข้ามาอีกหลายลูกจากในระดับโลก และเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งไม่เพียงแค่ธุรกิจโทรคมนาคม แต่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธนาคารก็มีการปรับโครงสร้าง ควบรวมให้เห็น ธุรกิจโรงแรม และอีกหลายธุรกิจ ที่ต้องรีบปรับโครงสร้างให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแบบขี่พายุ ทะลุฟ้า กันเลยทีเดียว