มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้รับการยกย่องในความมุ่งมั่น ตั้งเป้าใช้ไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง หรือ Cage-Free 100% ครอบคลุมทุกวิทยาเขตภายในปี 2028
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (RMUTP) สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศเจตนารมณ์ในการจัดหาไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง หรือ Cage-Free 100% ครอบคลุมทุกวิทยาเขต ภายในปี 2028 ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ Lever Foundation องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ระดับโลก หรือ NGO โดยพิธีลงนามจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2024 ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการขับเคลื่อนมาตรฐานด้านอาหารอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์ให้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ Lever Foundation จะให้การสนับสนุนด้านคำปรึกษาและการฝึกอบรมแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อส่งเสริมการจัดหาไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง หรือ Cage-Free 100% ในวิทยาเขตทั้ง 4 แห่ง ที่รองรับนักศึกษากว่า 12,000 คน และบุคลากรเกือบ 500 คน โดยมหาวิทยาลัยตั้งเป้าที่จะใช้ความร่วมมือนี้ในการเผยแพร่ความรู้ด้านการผลิตไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ
ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวถึงความตั้งใจในการยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนว่า “ภายในปี 2028 ไข่ไก่ทั้งหมดที่ใช้ในโรงอาหารทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย ทั้งในรูปแบบไข่เปลือกและไข่เหลว จะต้องเป็นไข่ไก่มาจากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง หรือ Cage-Free 100% ซึ่งนโยบายนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์และตอบสนองต่อความต้องการของนักศึกษาและบุคลากรในการบริโภคสินค้าที่มีจริยธรรมมากยิ่งขึ้น”
ด้าน นายนิค คูนีย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Lever Foundation กล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ว่า “การแสดงความเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครในการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์และความยั่งยืนในภาคการศึกษานั้นถือเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ตระหนักและดำเนินตาม”
การผลิตไข่ไก่จากฟาร์มเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง หรือ Cage-Free 100% เป็นการเลี้ยงไก่ในสภาพแวดล้อมภายในที่เปิดโล่ง ทำให้ไก่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ซึ่งส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์และลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหารอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการเลี้ยงในกรง โดยผลการวิจัยของหน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority – EFSA) ชี้ว่า ฟาร์มไข่ไก่แบบไม่ใช้กรง มีอัตราการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลาที่ต่ำกว่าฟาร์มเลี้ยงกรงถึง 25 เท่า และ EFSA ยังแนะนำให้ใช้การผลิตไข่ในระบบแบบไม่ใช้กรงเท่านั้น นอกจากนี้ แนวโน้มการบริโภคในปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาลดการบริโภคไข่เพื่อสนับสนุนสวัสดิภาพไก่ไข่อย่างต่อเนื่อง