7 วิธี ดูแลสุขภาพหัวใจให้ห่างไกล “โรคหลอดเลือดหัวใจ”
เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด “โรคหลอดเลือดหัวใจ” นำมาซึ่งการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง โดยสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 2561 พบว่า มีคนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจกว่า 4 แสนคน และทุก ๆ ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิต 2 คน สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ กว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ
เด็กแรกเกิดก็เป็นโรคหัวใจได้
ในอดีตเราอาจจะเข้าใจว่าโรคหัวใจเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันโรคหัวใจมีโอกาสเกิดได้แม้แต่กับเด็กทารกที่เพิ่งคลอดออกมาลืมตาดูโลก หรือแม้แต่คนในวัยอายุ 20 ปีเท่านั้น
โดยนายแพทย์ทัศนัย จันโหนง แพทย์อายุรศาสตร์หัวใจ แพทย์ประจำศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ แบบเรื้อรัง เกิดจากไขมันมาเกาะสะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดทำให้เยื่อบุผนังหนาขึ้น หลอดเลือดตีบลง ทำให้เลือดนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บหน้าอกในช่วงที่ผู้ป่วยออกแรงเยอะ ๆ แต่เมื่อหยุดพักอาการ ก็จะดีขึ้น และแบบเฉียบพลัน เกิดจากคราบไขมันที่เกาะอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในนี้ได้ปริแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือด จนอุดตัน ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน นำไปสู่การเสียชีวิตกะทันหันจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หัวใจห้องล่างซ้ายเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
อาการส่อเค้าที่ต้องเฝ้าระวัง
อาการเบื้องต้นที่ส่อเค้าว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ จะมีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง เจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรงเหมือนมีอะไรมากดทับ ปวดร้าวไปที่กราม คอหอย แขนด้านซ้าย สะบักหลัง มีอาการใจสั่น ซีด เหงื่อออกมาก จุกที่บริเวณคอหอย จุกใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม และอาจหมดสติ
แบบไหนเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง
ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่ออกกำลังกายน้อย น้ำหนักเกินมาตรฐาน และผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง
เครื่องมือตรวจวินิจฉัยแม่นยำปลอดภัยสูง
ปัจจุบันการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง CT Scan 128 Slice นับว่ามีความแม่นยำและปลอดภัยสูง แม้แต่ผู้ป่วยเด็กก็สามารถตรวจได้ ใช้เวลาตรวจไม่นาน ผู้ป่วยได้รับรังสีเอ็กซเรย์น้อยลงกว่า 82% แสดงผลตรวจออกมาเป็นภาพ 3 มิติ สามารถดูภาพในระนาบต่าง ๆ ของหัวใจได้ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
วิธีรักษาตามความรุนแรงของโรค
ในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จะรักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น และวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การทำบอลลูนเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจอุดตันไปแล้วกว่า 70% แพทย์จะใช้วิธีการทำบายพาสหัวใจ นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในกรณีที่โรคมีระดับรุนแรงมากและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว
แนะ 7 วิธีดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง
หมั่นดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงด้วย 7 วิธี ง่าย ๆ ได้แก่
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
2. หลีกเลี่ยงของทอด ของมัน และอาหารรสจัด
3. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5. งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์
6. ทำจิตใจให้แจ่มใส
และ 7. รับการตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
เมื่อสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที หรือสามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 8 แห่ง ใน 7 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก: Principal Healthcare Company