ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์จีนโตต่อเนี่อง เดินหน้าจัดนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียฯ ปี 2024
คณะกรรมการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยเหมิน สมาคมผู้จัดจำหน่ายหนังสือและวารสารแห่งประเทศจีน สำนักงานพาณิชย์เซี่ยเหมิน บริษัท เซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊ก จำกัด และสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือประสานงาน ผนึกกำลังความร่วมมือมาอย่างยาวนาน จัดงานนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2024 ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ณ กรุงเทพฯ
งานนี้นับเป็นเวทีที่เปิดออกเพื่อให้เกิดการลงนามซื้อลิขสิทธิ์หนังสือชุดไทย จีน ร่วมกัน พร้อมประชุมจับคู่ทางธุรกิจหนังสือระหว่างประเทศไทยจีนประจำปีแบบ “หนึ่งต่อหนึ่ง” รวม 5 รอบ 40 คู่ ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงความเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน อีกทั้งหนังสือวรรณกรรมจีนก็มีอิทธิพลต่อผู้อ่านชาวไทย อย่างมากเช่นกัน โดยงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน จาก 25 หน่วยงานสำนักพิมพ์ไทยและจีน
จึงนับเป็นอีกหนึ่งความความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 8 ปี สำหรับความร่วมมือของคู่ค้าทางธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือระหว่างประเทศไทยและจีน ในงานนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการประชุมจับคู่ทางธุรกิจหนังสือระหว่างประเทศไทยจีนประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและซื้อขายลิขสิทธิ์สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือ อาทิ หนังสือวรรณกรรม, หนังสือวิชาการ, หนังสือประวัติศาสตร์ สังคม, หนังสือเรียน ร่วมกันอย่างถูกต้องระหว่างไทยและจีน
สำหรับรูปแบบของการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณธีรภัทร์ เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และ คุณอู๋อวิ๋นซี กรรมการบริหารและรองผู้จัดการใหญ่บริษัทเซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊ก จำกัด (Xiamen International Book Company Limited) มาร่วมกล่าวคำปราศรัย
โดย คุณธีรภัทร์ เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยและจีน ล้วนต่างเป็นประเทศที่มีจุดแข็งในเรื่องของคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอ Content สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในด้านของการสร้างเนื้อหา จนสามารถเป็นแรงสนับสนุนผลักดันให้เกิดการเกื้อหนุนและเป็นประโยชน์ในด้านของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ หรือ คู่ค้าที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน เพราะจากสถิติของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปี 2567 ที่ผ่านมา วรรณกรรมจีนมีอิทธิพลต่อผู้อ่านชาวไทยอย่างมาก มีผู้อ่านชาวไทยถึง 28% ที่สนใจต่อหนังสือของนักเขียนจีน
ดังนั้น นิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์สัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2024 ที่ได้มาเลือกจัดงานในประเทศไทย ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีต่อการนำเสนอโอกาสให้กับผู้จัดพิมพ์ประเทศไทยในการแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือระหว่างกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า ยังช่วยเพิ่มความร่วมมือด้านการพิมพ์ระหว่างจีนไทยและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีหนังสือออกใหม่ 19,506 ปก คิดเป็นมูลค่าการตลาด 1.67 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 3%
ขณะที่ คุณอู๋อวิ๋นซี กรรมการบริหารและรองผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊ก จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศจีนมีสำนักพิมพ์มากถึง 600 แห่ง ที่ต่างจะพากันหมุนเวียนเข้ามาจัดงานนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมาพบปะกับคู่ค้าทางธุรกิจด้านสำนักพิมพ์ของไทย ในการจะเข้ามาพูดคุยเจรจาแลกเปลี่ยนเรื่องการซื้อขายลิขสิทธิ์สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือไทย จีน ร่วมกัน ซึ่งในปี 2567 สิ่งที่เป็นจุดเด่นสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบ Content ของจีนที่จะนำเข้ามาเสนอต่อประเทศไทย คือ หนังสือเสียง และคลิปเสียงที่จะมาในรูปแบบ VDO สั้นๆ เพราะ Content ดังกล่าวกำลังเป็น Platform ที่มาแรงอย่างมากทั้งตลาดในประเทศจีนและไทย ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์จีนที่มาพบปะกับคู่ค้าไทยในรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นสำนักพิมพ์เกี่ยวกับหนังสือเรียนระดับมหาวิทยาลัย ที่ได้มานำเสนอหนังสือเกี่ยวกับวิชาการ การเรียนการสอน รองลงมาก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมด้านต่างๆ
ดังนั้น การจัดนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2024 นี้ จึงเป็นงานประชุมที่จะมีการจับคู่ทางธุรกิจหนังสือระหว่างประเทศไทย-จีน รวมถึงจะเป็นเวทีเพื่อใช้สำหรับการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนธุรกิจจีน-ไทย ที่มีทั้งสำนักพิมพ์จีนและไทย เข้ามาร่วมงานกว่า 25 หน่วยงาน ประกอบกับยังมีการจับมือข้ามประเทศร่วมกันเพื่อลงนามเซ็นสัญญาลิขสิทธิ์หนังสือ พร้อมกับแบ่งปันประสบการณ์อันล้ำค่า ผ่านการจับคู่ทางธุรกิจแบบ “หนึ่งต่อหนึ่ง” เพื่อร่วมกันหารือและถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงวิชาชีพ ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีวิทยากรฝั่งจีนที่ให้เกียรติขึ้นมากล่าวคำปราศรัย ซึ่งมาจากกลุ่มสำนักพิมพ์ Beijing Normal University Press สำนักพิมพ์ Educational Science Publishing House กลุ่มสำนักพิมพ์ Guangxi Normal University Press Group สำนักพิมพ์ Liaoning Science and Technology Publishing House ส่วนวิทยากรฝั่งไทยมี บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท URU บริษัท อีคิว พลัส สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ รวมทั้งหมด 8 หน่วยงาน
โดยทั้ง 8 หน่วยงาน ได้ขึ้นมาบรรยายเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับภายในงานนี้ยังมีบุคลากรชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มากมาย เช่น สำนักพิมพ์ Xizang People’s Publishing House สำนักพิมพ์ Henan University Press สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ กว่า 70 คน ได้สนใจเข้ามาร่วมงานที่จัดขึ้นในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นภาพทางประวัติศาสตร์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยและจีนนับเป็นคู่ค้าทางธุรกิจร่วมกันมายาวนาน และหนังสือเชิงวรรณกรรมจีนก็มีอิทธิพลต่อผู้อ่านชาวไทยอย่างมากเช่นกัน
ดังนั้น การจัดงานนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 8 นี้ ถือเป็นการนำเสนอโอกาสอันดีให้กับสำนักพิมพ์ หรือผู้จัดพิมพ์ประเทศไทย ในการช่วยกันส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า และการเพิ่มมูลค่าด้านการพิมพ์ระหว่างจีน-ไทย พร้อมกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ดีต่อกัน
คุณอู๋อวิ๋นซี กล่าวเสริมว่า เพราะในปี 2566 ภาพรวมตลาดสื่อสิ่งพิมพ์จีนมีหนังสือจีนเล่มใหม่ๆ ผลิตออกมาจัดจำหน่าย จำนวน 1.8 แสนปก และมีจำนวนหนังสือจำหน่ายทั้งหมด 2.37 ล้านปก เพิ่มขึ้น 4.72% ขณะที่มูลค่าตลาดค้าปลีกหนังสือของจีน อยู่ที่ 9.12 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 1.55%
ส่วน Content ประเภทคลิปสั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 26.6% เพิ่มขึ้น 70.1% โดยประเภทของหนังสือเด็กมีมูลค่าตลาดสูงสุดถึง 27.21% รองลงมาเป็นหนังสือเรียนและวรรณกรรม มากกว่า 10% และ หนังสือวิชาการเศรษฐกิจการตลาด 4 -10% ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของตลาดที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและอัตราการเติบโตของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ของจีนได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นทั้งไทยและจีนถือว่าเป็นผู้นำด้านลิขสิทธิ์ที่ต่างมี Content เชิงอัตลักษณ์และจุดเด่นเป็นของตนเองจะเกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและการผ่านเวทีนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้อย่างมากมาย ในการจับมือสร้างสรรค์ผลงานจากลิขสิทธิ์ไทยและจีนกันมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การจัดนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์สัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2567 นี้ จึงได้มีการจับคู่ทางธุรกิจด้วยกันผ่านทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ประกอบกับยังมีพิธีลงนามซื้อลิขสิทธิ์หนังสือชุด เพื่อจะบรรลุข้อตกลงระหว่างจีนและไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน มาเป็นสักขีพยาน
สำหรับหนังสือชุด ที่มีการลงนามซื้อลิขสิทธิ์ในปี 2567 ได้แก่ หนังสือชุด “วิทยาศาสตร์เบาๆ” ของสำนักพิมพ์ Educational Science Publishing House และ “แปดมหาอุปรากรทิเบต” ของสำนักพิมพ์ Xizang People’s Publishing House ซึ่งได้เซ็นสัญญาลิขสิทธิ์การแปลเป็นภาษาไทยให้กับสำนักพิมพ์แมงมุมบุ๊ก อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นกำลังหนึ่งในการผลักดันการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและไทย
ขณะที่ภายในงานช่วงบ่าย คณะผู้จัดงานได้ทำการประสานหน่วยงานผู้มีความสนใจในลิขสิทธิ์หนังสือระหว่างกันไว้ล่วงหน้า จัดการประชุมจับคู่เจรจาแบบ “หนึ่งต่อหนึ่ง” รวม 5 รอบ 40 คู่ และได้ผลลัพธ์ตามความตั้งใจ เบื้องต้นถือว่ามีการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทั้งการซื้อขายลิขสิทธิ์และให้บริการด้านการพิมพ์อาทิ “นิทานคลาสสิกสำหรับเด็ก” “พิธีการในประเทศจีน” “ไร่ชาคุณพ่ออยู่บนเขา” กว่า 110 รายการ
“เรียกได้ว่าเป็นการประสบความสำเร็จอย่างมากสำหรับจัดงานนิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2024 ครั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยเหมิน สมาคมผู้จัดจำหน่ายหนังสือและวารสารแห่งประเทศจีน สำนักงานพาณิชย์เซี่ยเหมิน บริษัท เซี่ยเหมิน อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊ก จำกัด และสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยช่วยเหลือประสานงาน” คุณอู๋อวิ๋นซี กล่าว