กสศ. จับมือ Sea ประเทศไทย และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ประกาศรางวัลโครงการ Equity Partnership’s School Network ปีที่ 3

0 0
Read Time:7 Minute, 44 Second

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ด Central Court กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี และ Sea (ประเทศไทย) ร่วมจัดงานประกาศรางวัลและจัดแสดงผลงานนิทรรศการแสดงผลงานสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “Equity Partnership’s School Network” ปีที่ 3 โดยมี คุณมารีญา พูลเลิศลาภ ในฐานะ Friend of Equity ร่วมกิจกรรม

สำหรับกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและต่อยอดแนวทางการทํางานร่วมกัน สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ระหว่างสถานศึกษา ครู นักเรียนในพื้นที่ชนบท และสถานศึกษาในเขตเมือง โดยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ความคิดสร้างสรรค์ และความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค หรือ Equity Partnership’s School Network ครั้งนี้ ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 3 นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และบริษัท SEA (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ platform จำหน่ายสินค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “shopee” ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากความหลากหลายของศักยภาพของนักเรียน การพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการใช้เทคโนโลยี โดยโครงการยังช่วยพัฒนาทักษะที่ก่อประโยชน์ให้กับนักเรียนให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ นำไปสู่โอกาสทางการศึกษาในอนาคตได้อย่างยั่งยืน อันเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้หมดไปได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเราขยายผลโครงการลักษณะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เด็กของเราจะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น สังคมไทยในทุกพื้นที่จะเป็นสังคมแห่งความเสมอภาคที่ไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“นี่คือตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลงมือทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาศัยความร่วมมือ ร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วน ในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ เป็นคุณค่าของ ALL FOR EDUCATION ปวงชนเพื่อการศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการยินดีให้การสนับสนุนขยายผลโครงการฯเพื่อให้เกิดกิจกรรมดีๆเช่นนี้ต่อไปในอนาคต ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางที่จะขยายผลในเรื่องนี้ไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศมากขึ้น เป็นโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือโรงเรียนที่ขาดโอกาส เด็กพิเศษ เพื่อจะช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในระยะยาวให้มากที่สุด” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นปีที่ 3 ที่จัดต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี ในครั้งนี้มีโรงเรียนในเครือข่าย กสศ. เข้าร่วมจำนวน 10 โรงเรียน แม้ว่าในปีที่ 3 นี้การจัดกิจกรรมจะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด –19 แต่น้อง ๆ นักเรียนทั้ง 10 ทีม ได้ใช้สถานการณ์นั้นเป็นโอกาส ไม่ปล่อยผ่านไป ยังคงสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ผ่านความตั้งใจของน้อง ๆ ทุกคนที่ได้เรียนรู้การทำงานจากสถานการณ์จริง ทุกคนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการทำงานร่วมกัน มุมกลับกันยังเสริมสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจและมิตรภาพของน้อง ๆ ทุกคนได้แน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น โดยปรับรูปแบบการทํางานแนวใหม่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรงคุณภาพตรงตามวัตถุประสงค์ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งวันนี้นักเรียนทุกคนได้เกิดการพัฒนาทักษะด้านอาชีพและการเรียนรู้การทำงานร่วมกันในสังคม

“หัวใจสำคัญของโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “Equity Partnership’s School Network” คือการสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนชนบทและเมืองปราศจากช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ เพราะเราเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคน ต่างมีศักยภาพที่แตกต่างกัน และนี่คือสิ่งพิเศษที่พวกเขาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ผ่านการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนต่างโรงเรียนได้ และได้เห็นถึงความร่วมมือของภาคเอกชนและการศึกษาในการให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งของการสร้างรายได้ให้กับตนเองเพื่อนำรายได้กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองเพื่อก่อให้เกิดแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ“ ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.ไกรยส กล่าวว่า โครงการฯ นี้ เป็นนวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ไม่ใช่การให้ปลาแต่เป็นการให้เบ็ด ที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ และเกิดเป็นความชำนาญในการทำงานที่ช่วยเสริมทักษะ 3 ส่วนสำคัญ 1) ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Empathy & Cross Cultural Understanding) 2) เสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ 3) เสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ (Digital Entrepreneurship) ให้กับเด็กและเยาวชน ด้วยการการต่อยอดโครงการและขยายความรู้ เป็นแนวทางให้โรงเรียนส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ และการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาชุมชนในด้านการสร้างรายได้และความยั่งยืนจากการต่อยอดอัตลักษณ์และวัฒนธรรมออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้โรงเรียนและชุมชนสามารถร่วมมือกันในลักษณะของการมีวิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาเผยแพร่ความรู้ให้แก่นักเรียน มีการจัดนิทรรศการ หรือโครงการร้านค้า เพื่อการเผยแพร่ นําเสนอ และจําหน่ายสินค้าได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ เกิดความสนใจที่จะสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นโมเดลต้นแบบของการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็สามารถประสานความร่วมมือร่วมกันได้ เพื่อขยายผลสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมฝึกทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ให้แก่นักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในอนาคต และแม้จะมีหน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น แต่ทุกภาคส่วนในสังคม ล้วนช่วยสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า โครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network Season 3) เป็นกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสร้างอาชีพใหม่ สร้างรายได้ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องยอมรับว่าทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลเป็นทักษะสำคัญในการเปิดโอกาสทางด้านอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน

“บริษัท Sea (ประเทศไทย) ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาร่วมกับ Equity Partnership’s School Network โดยเราได้สนับสนุนการเปิดพื้นที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ (Shopee) เพื่อเป็นตัวกลางให้เด็กได้นำผลงานที่สร้างสรรค์มาจำหน่าย ได้รับรายได้จริง โดยรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคจาก 10 โรงเรียน โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคตและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กอีกด้วย ซึ่งในอนาคตหากมีโครงการลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เรายินดีที่จะให้ความร่วมมือ เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนา และเราก็มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรต่างๆ ที่จะให้การสนับสนุน” คุณพุทธวรรณ กล่าว

คุณพุทธวรรณ กล่าวต่อว่า ในฐานะภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนโครงการฯ นี้ เพราะเล็งเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจซื้อขายออนไลน์มีศักยภาพอย่างสูงในการสร้างรายได้ให้กับผู้คน รวมถึงน้อง ๆ ในโรงเรียน ประกอบกับองค์กร Sea มีความเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญอย่างสูงในการทำธุรกิจ E-Commerce หรือ ธุรกิจ ซื้อขายออนไลน์ Shopee มีศูนย์การเรียนรู้ซื้อขายออนไลน์ ช้อปปี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับ Start up หรือผู้สนใจที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์แต่ไม่รู้ว่าจะซื้อขายอย่างไร เช่นเดียวกับน้อง ๆ ในโรงเรียนที่เข้ามาร่วมโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “Equity Partnership’s School Network” ปีที่ 3 ที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นนำสินค้าที่ผลิตได้มาทำธุรกิจซื้อขายอย่างไรเพื่อให้เกิดรายได้กลับคืนไปยังชุมชนของตนเอง ทาง Shopee จึงได้เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้รวมถึงสนับสนุนช่องทางการขายผ่าน Shopee แบบไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ รายได้ทั้งหมดที่ขายได้ก็นำกลับคืนไปสู่โรงเรียนที่เข้าโครงการดังกล่าวทั้งหมด โดยตลอดระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ที่เกิดการซื้อขายผ่านทาง Shopee ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯนี้คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และมียอดจำหน่ายสินค้ากว่า 500 ชิ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ คือ ทีม St.Palao ซึ่งเป็นทีมน้อง ๆ นักเรียนจากโรงเรียนบ้านป่าเลา จังหวัดลำพูน และโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส กรุงเทพฯ โดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์คือ เสื้อคลุมผ้าฝ้ายทอมือ

ส่วนรองชนะเลิศคือ ทีม SARNFUN โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี โดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์คือกระเป๋าสะพายข้าง และทีม MONGLONG จากโรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน จังหวัดเชียงราย และโรงเรียนสาธิตประสานมิตร อินเตอร์ คว้าอันดับ 3 จากการร่วมประกวดในครั้งนี้ โดยการเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกลุ่มนี้คือปลอกหมอนอิง

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

%d bloggers like this: